นิทรรศการเทิดพระเกียรติ

รัชกาลที่ 4

นิทรรศการเทิดพระเกียรติและพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ

พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจ

1. ด้านกฎหมาย

     ได้มีพระบรมราชโองการ หรือ ประกาศ กฎหมายต่าง ๆ ออกมา เป็นจำนวนมากเพื่อความผาสุก และให้ความเป็นธรรมแก่อาณาประชาราษฎร อาทิ การลดภาษีอากร ลดหย่อนค่านา ยกเลิกการเก็บอากรตลาด เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีโรงร้านเรือนแพจากผู้ค้าขายรายใหม่ ประกาศมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา  ออกพระราชบัญญัติกำหนดใช้ค่าที่ดินให้ราษฎรเมื่อมีการเวนคืน ออกประกาศเตือนราษฎรให้รอบคอบในการทำนิติกรรม และที่สำคัญประการหนึ่งคือ ทรงออกกฎหมาย กำหนด ลักษณะของผู้ที่จะถูกขายเป็นทาสให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกกฎหมายเดิมที่ให้สิทธิบิดา มารดาและสามีในการขายบุตรและภรรยา  และตราพระราชบัญญัติใหม่ให้การซื้อขายทาสเป็นไปด้วยความยินยอมของเจ้าตัวที่จะถูกขายเป็นทาสเท่านั้น

2. ด้านการดำเนินโยบายต่างประเทศ

       ได้ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก โดยยึดหลักการประนีประนอมด้วยวิถีทางการทูตได้ทรงทำสัญญาทางไมตรีและการค้าในลักษณะใหม่กับอังกฤษเป็นชาติแรก คือสนธิสัญญาเบาริ่ง เมื่อ พุทธศักราช 2398 และกับชาติอื่น ๆ

3. ด้านเศรษฐกิจการค้า

       ได้โปรดให้ยกเลิกระบบการค้าแบบผูกขาดของทางราชการไทยแต่เดิม และแบบบรรณาการกับ จีน พระองค์ได้มีพระราชดำริปรับปรุงระบบเงินตราของไทยให้ได้มาตรฐาน โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นเพื่อผลิตเหรียญ เงินขนาดต่าง ๆ ใช้แทนเงินพดด้วง ประกาศพิกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเพื่อช่วยให้การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าได้คล่องและเป็นสากลขึ้น

4. ด้านการทหาร

 ได้โปรดให้มีการจัดระเบียบทหารใหม่ และมีการฝึกทหารตามแบบอย่างตะวันตก ตลอดจนได้โปรดให้มีตำรวจนครบาลขึ้นเป็นครั้งแรก

5. ด้านการพระศาสนา

       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำนุบำรุงและบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอย่างมาก ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ วัด ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ ทรงส่งสมณทูตไปลังกา ทรงกวดขันความประพฤติของภิกษุ สามเณร ให้อยู่ในพระธรรมวินัยตลอดจนได้ทรงนำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งเดิมจัดตาม พิธี พราหมณ์เพียงอย่างเดียว เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้พระราชทานเสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชนและได้พระราชทานที่ดินแก่ศาสนิกชนคริสเตียนเพื่อสร้าง โบสถ์ อีกทั้งโปรดให้สร้างวัดถวายเป็นราชพลี แก่พระญวนนิกายมหายาน

6. ด้านการศึกษาศิลปวิทยา

     ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน รวมทั้งทางด้านดาราศาสตร์ กล่าวได้ว่าเทียบเท่านักดาราศาสตร์สากล ทรงสามารถคำนวณสุริยุปราคาเต็มดวง ในพุทธศักราช 2411 ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เป็นที่เลื่องลือในวงการาราศาสตร์นานาชาติ ส่วนการศึกษาของอาณาประชาราษฎร์ พระองค์ได้ทรงพัฒนาการศึกษาทั้งของข้าราชสำนัก และประชาชนทั่วไป ทรงใส่พระทัยกวดขันคนไทยให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทรงสนับสนุนโรงเรียนของหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษาอรรถคดี และวิทยาการของชาติตะวันตก โปรดให้จ้างครูสตรีชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรสธิดาและสตรีในราชสำนัก และยังได้ทรงพระกรุณาส่ง ข้าราชการระดับบริหารไปศึกษางานที่จำเป็นสำหรับราชการไทย ณ ต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช 2401 เรียกว่า “โรงอักษรพิมพ์การ” ทำหน้าที่ผลิตข่าวสารของทางราชการเพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึงกัน โดยเริ่มพิมพ์หมายประกาศต่าง ๆ มีลักษณะอย่าง หนังสือพิมพ์ข่าว ใช้ชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งยังคงมีอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาคือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ราชทูตสยามเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พ.ศ. 2404
พระบรมรูปประดิษฐาน ณ อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พระราชนิพนธ์ที่สำคัญ

พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย (รัชกาลที่ 4)

                    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับยกย่องในพระราชสมัญญานามว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เพราะทรงพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น บาลี อังกฤษ ละติน เป็นพิเศษ สำหรับ พระปรีชาสามารถและอัจฉริยะทางดาราศาสตร์ ทรงศึกษาโดยพระองค์เองจากตำราไทยและมอญ ซึ่งแปลจากตำราโบราณ ของฮินดู และทรงศึกษาตำราดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์จากยุโรป จนสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะเกิด สุริยุปราคาเต็ม ดวงในวันที่ 18สิงหาคม พ.ศ. 2411และเห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศไทยที่บ้านคลองลึก ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นเหตุให้ทรงได้รับการยกย่องจากวงการวิทยาศาสตร์ ของชาติมหาอำนาจในยุคนั้นเป็นอย่างสูง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตว์วิทยาสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร บรรดาประมุขของต่างประเทศในยุโรปอเมริกาต่างพากันตระหนักดีว่า ทรงสนพระทัยวิทยาศาสตร์ยิ่งนักในจำนวนเครื่องราชบรรณาการจึงมักมีเครื่องมือและหนังสือทางวิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วยเสมอ เช่น พระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ได้ถวายกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเซอร์ ยอนบาวริ่ง ได้บันทึกไว้ว่า กล้องที่ นำมาถวายมีคุณภาพต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ทรงมีอยู่แล้วเสียอีก กล่าวกันว่าในห้องส่วนพระองค์จะมีเครื่องมือ วิทยาศาสตร์เหมือนห้องนักปราชญ์ ราชบัณฑิตที่มีชื่อเสียงและมั่งคั่งของโลกในสมัยนั้นทีเดียว ทรงเป็นนักปฏิบัติทดลองรวบรวมข้อมูล ทรงวัดเส้นรุ้งเส้นแวงด้วยพระองค์เอง ทรงสร้างหอดูดาวขึ้นที่เขาหลวง จังหวัด เพชรบุรี ทรงตั้งเวลามาตรฐานของไทยโดยโปรดให้สร้างนาฬิกาขึ้นในพระบรมมหาราชวังและตั้งเวลามาตรฐานเพื่อให้ชาว ต่างประเทศในเมืองไทยด้วย ทรงแก้ปัญหาบ้านเมืองบางประการ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ คือมีเหตุผลรายละเอียดถี่ถ้วน ไม่เชื่อโชคลางอาทิเช่น ประกาศเรื่องป่วงใหญ่ และประกาศดาวหาง มีความว่า “….ที่คิดว่าโรคป่วงใหญ่ เป็นกองทัพภูตผีปีศาจนั้นไม่ถูกต้องและคนทั้งปวงคิดจะคุ้มครองตนเองโดยการบ่นคาถา ภาวนาพิธีต่าง ๆ และอ้อนวอนต่อเทวดาเทพบุตรเทพธิดาและผีปีศาจต่าง ๆ นั้นขอให้ช่วยคุ้มครอง การบรวงสรวงบูชายัญ เสียกบาลด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นที่น่าเกลียดน่าชังน่าหัวร่อ” เรื่องดาวหางขึ้นทรงปลอบใจว่าอย่าได้วิตกทรงชี้ให้เห็นว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทรงแนะวิธีแก่ความเชื่อไว้ว่า ถ้ากลัวฝนแล้งก็ให้รีบทำนาเสียขณะที่มีฝนอยู่ ถ้าครอบครัวใดไม่ได้ทำนาก็ให้จัดซื้อข้าวไว้ให้พอกิน ถ้ากลัวฝีดาษก็ให้มา ปลูกฝีเสียที่โรงทาน….. “ถ้าดาวหางมาบนฟ้าโกรธขึ้งหึงสาพยาบาทอาฆาตแค้นอะไรอยู่กับเจ้านายมาแล้วจะไม่มาตรงไล่ เอาเจ้านายทีเดียวไม่เห็นจริงด้วย”

พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์

            ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ปรากฏดาวหางดวงใหญ่ 3 ดวงคือดาวหางฟลูเกอร์กูส์ ในปี พ.ศ. 2353 ดาวหางโดนาติ (Donati) ในปี พ.ศ.2401 และดาวหางเทบบุท(Tebbutt) ในปี พ.ศ. 2404 ทำให้ชาวบ้านต่างหวาดกลัวเพราะเชื่อว่าเป็นลาง ร้าย พระองค์ทรงออกประกาศเตือนล่วงหน้าและทรงอธิบายอย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าดาวหางเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มีผู้คนเห็นกันทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

          จากเหตุการณ์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ทำให้ประชาชนชาวไทยและทั่วโลกได้ทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ในปี พ.ศ.2525 เนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี คณะนักวิทยาศาสตร์ไทยและสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มีมติให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า”พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และต่อมาได้มีการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ที่บ้านหว้ากอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2533 และได้รับพระบรมราชานุญาติให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือชุดเดียวกับวันที่ พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านหว้ากอ หันพระพักตร์ออกทะเลด้านทิศตะวันออก ปัจจุบัน เมื่อถึงวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นักเรียน พ่อค้า ประชาชน ได้จัดพิธีสักการะ น้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านเป็นประจำทุกปีมิได้ขาด

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

               รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติเนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่หว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงแขวงเมืองชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์

                  ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก เซอร์แฮรี ออด บันทึกเหตุการณ์ไว้ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518 ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

                  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคมเป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2511 หลายหน่วยงาน เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

                    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดพระองค์ทรงได้ค้นคิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า “ปฏิทินปักขคณนา” (ปักขคณนา คือ วิธีนับปักข์หรือรอบครึ่งเดือนของข้างขึ้นข้างแรม เป็นวิธีนับที่แม่นยำสูง) และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ทำปฏิทินจันทรคติพระทุกปี แทนปฏิทินฆราวาส ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงค้นคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดาน ไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อจะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ และมีชื่อเรียกว่า “กระดานปักขคณนา” ซึ่งปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นในวัดสายธรรมยุต. เช่น วัดราชาธิวาส พระปรีชาสามารถด้านดาราศาสาตร์นั้นน่าจะเริ่มตั้งแต่ทรงทอดพระเนตรดาวหางเมื่อทรงพระเยาว์. ซึ่งพระองค์ยังได้ทรงออกประกาศแจ้ง ชื่อ ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ไม่ให้เชื่อตามคำเล่าลือที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น.ซึ่งนับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ

กระดานปักขคณนา

              ในพระราชฐานของพระองค์ ทั้งที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจะมีหอดูดาว โดยเฉพาะหอชัชวาลเวียงชัย ในบริเวณพระนครคีรีหรือเขาวัง พระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ของไทย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งสัมฤทธิผลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2395 โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น โดยมีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์

              ต่อมาในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจากท่านิเวศวรดิษฐ์ไปยังบ้านหว้ากอ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา กับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพารจำนวนมาก ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด คือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ เมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงพยากรณ์ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว

เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจากท่านิเวศวรดิฐ

            สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และต่อมาได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่ บ้านหว้ากอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” และได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ ชุดเดียวกับวันที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านหว้ากอ

อุทยานวิทยาศาสตร์ ที่บ้านหว้ากอ

             นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2527 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 18–24 สิงหาคม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ จนได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญ ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการจัดงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” เป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 18–24 สิงหาคม วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2511 หลายหน่วยงาน เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์ของรัชกาลที่4

                  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า “หอชัชวาลเวียงชัย” ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้เคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวงคือ

                    ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัย พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฎมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์สามารถทรงนิพนธ์ประกาศฉบับแรกชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” แจ้งแก่ประชาชน

                          ดาวหางโดนาติ (Donati a Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ 2401 และคืนต่อ ๆ มา จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา 9 เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2401
                       ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่าง ๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า

                      “ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศทั้งนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่าง ๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล”

                         ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์

ความสำคัญของวิทยาศาสตร์

           วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต  เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคนทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในงานอาชีพต่างๆ  เครื่องมือเครื่องใช้   ตลอดจนผลผลิตต่างๆ  เพื่อใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตและการทำงาน   ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์   ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่นๆ   ความรู้วิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมาก    พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญมากที่จะให้การศึกษาค้นคว้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

           วิทยาศาสตร์ทำให้คนได้พัฒนาวิธีคิด   ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล   คิดสร้างสรรค์  คิดวิเคราะห์  มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้   มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ   สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลากหลายและประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้    วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่  ซึ่งเป็นสังคมแห่งความรู้  ทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์  เพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจโลกธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น   และนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล   สร้างสรรค์  มีคุณธรรม  ความรู้วิทยาศาสตร์ไม่เพียงแต่นำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี   แต่ยังช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์    การดูแลรักษา  ตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน   และที่สำคัญยิ่งคือ  ความรู้วิทยาศาสตร์ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ   สามารถแข่งขันกับนานาประเทศและดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข

[elementor-template id="6558"]