นิทรรศการเทิดพระเกียรติ

รัชกาลที่ 9

นิทรรศการเทิดพระเกียรติและพระปรีชาสามารถ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชประวัติ

พระราชกรณียกิจ

1. ด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย

          ด้านการเกษตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสนใจด้านนี้ พระองค์ได้เสด็จเยี่ยม ไต่ถามความทุกข์สุขของประชาชน และรับฟังข้อปัญหาเกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การพัฒนาดิน การวิจัยพันธุ์พืชและปศุสัตว์ เป็นต้น

2. ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        พระองค์ทรงใช้ประสบการณ์และแนวพระราชดำริ โครงการหลวงในการพัฒนาและวิจัย พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ

3. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

             ในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาในด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรมก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง” ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ทั้งแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยไข้ได้ทันที นอกเหนือจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้

 

  • โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
  • โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
  • โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
  • หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
  • โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
  • โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
  • โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
  • หน่วยงานฝ่ายคนไข้ ในกองราชเลขานุการ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

4. ด้านการศึกษา

           ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆเพื่อให้นักศึกษาได้มีทุนออกไปศึกษาหาความรู้ต่อ ดังพระราชดำรัสที่ว่า

            “การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด”

                พระองค์จึงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้

                1)  โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

                 โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้การอุปถัมป์ในด้านต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน

                  2) ทุนการศึกษาพระราชทาน

                     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

                  3) โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

                   โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2511 โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า

                   “หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี”

ปัจจุบันโครงการฯ ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน 7 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทยศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขณะนี้มีออกมาแล้ว 28 เล่ม โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตน

                 

         

                   4) พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

                    ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

5. ด้านศาสนา

          พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในการเปิดพระราชพิธีเนื่องในวโรกาสต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบำเพ็ญการกุศล ทรงสนับสนุนให้มีการสร้างศาสนสถาน อีกทั้งยังทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา เคยทรงให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นจำนวน 45 เล่ม

6. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

            ในระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม 28 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ

7. ด้านศิลปวัฒนธรรม

         

  • ทรงตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย
  • ทรงตั้งโรงละครหลวงขึ้นเพื่อส่งเสริมการแสดงละครในหมู่ข้าราชบริพาร
  • ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบอาคารสมัยใหม่เป็นแบบทรงไทย เช่น ตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

8. ด้านการกีฬา

          เรือใบเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่น ๆ ในที่สุด ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทอง จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก ทำให้พระอัจฉริยภาพทางกีฬาเรือใบของพระองค์ที่ยอมรับกันทั่วโลก พระองค์ยังได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างออกมาหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และ เรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13

พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ทรงศึกษาในต่างประเทศ เห็นได้จากการที่ทรงเลือกศึกษาแผนกวิทยาศาสตร์ สาขาสหวิทยาศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษา แม้ต่อมาจะทรงเปลี่ยนไปศึกษานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เพื่อให้ทรงมีพื้นฐานด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครองประเทศ แต่พระองค์ก็ทรงใช้ประสบการณ์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการประยุกต์ใช้เข้ามาพัฒนาประเทศผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อาทิ โครงการฝนหลวง แก้มลิง กังหันชัยพัฒนา หญ้าแฝก เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้อยู่ดีกินดีตามวิถีแห่งความพอเพียงตลอดมา

      • ฝนหลวง

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นถึงปัญหาภาวะแห้งแล้งในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่เสด็จโดยพระราชพาหนะเครื่องบินพระที่นั่งเพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงสังเกตว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางบินแต่ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นฝนได้ จึงทรงมีพระราชดำริคิดค้นหาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศมาช่วยให้เกิดการก่อตัวและรวมตัวของเมฆให้เกิดฝนได้ โดยได้ทรงศึกษาทดลองถึง 12 ปี ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อตอนเริ่มต้นต้องพบกับอุปสรรคมากมาย สิ่งสำคัญคือ ต้องดูลักษณะเมฆที่จะมีศักยภาพที่จะเกิดฝนได้ ถ้าไม่มีก็ต้องสร้างให้เกิดเมฆขึ้นโดยสร้างความชื้นในอากาศให้ได้ระดับ 70% โดยใช้สารเคมีหลายชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ทรงศึกษาวิจัยอย่างจริงจังทั้งในเรื่องทิศทางลมและกระแสลมในแต่ละพื้นที่ และมีการทดสอบปรับปรุงคุณภาพ ทรงพระราชทานแนวความคิดในการวิจัยพัฒนาหลายประการและติดตามการปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดทุกระยะ จนเกิดเป็นความสำเร็จในการปฏิบัติการทำฝนหลวง

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายหลักการด้วยเทคนิคที่ทรงเรียกว่า ซุปเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich Technique) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พระองค์ท่านทรงคิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง โดยการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝนด้วยการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นพร้อม ๆ กันในกลุ่มเมฆเดียวกัน โดยนำเครื่องบินทำฝนเทียมบินประกบกัน ด้านบนและล่างคล้ายกับการทำแซนด์วิช เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในการทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และได้พระราชทานให้ใช้ในประเทศไทยเป็นประเทศแรก

นอกจากแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการเกษตรแล้ว ฝนหลวงยังได้มีบทบาทในการบรรเทาสาธารณภัยและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย อาทิ การเพิ่มปริมาณน้ำในบริเวณที่ต้องการ เช่น อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เพื่อการอุปโภค บริโภค และการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการบรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการระบายน้ำเสียและขยะมูลฝอยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ฝนหลวงก็เป็นตัวช่วยผลักดันน้ำออกสู่ทะเลทำให้มลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง

“เทคโนโลยีฝนหลวง” ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ องค์กรและสถาบันระดับโลก มากมาย เช่น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นต้น จนทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล และประกาศพระเกียรติคุณจากองค์กรดังกล่าว 

             “เทคโนโลยีฝนหลวง” ได้รับการจดสิทธิบัตร ภายใต้ชื่อ การดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสในวันที่โปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเข้าเฝ้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ว่า “สิทธิบัตรนี้ เราคิดเอง คนไทยทำเอง เป็นของคนไทย มิใช่เพื่อพระเจ้าอยู่หัวทำฝนนี้ทำสำหรับชาวบ้านสำหรับประชาชน ไม่ใช่ทำสำหรับพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวอยากได้น้ำก็ไปเปิดก๊อกเอาน้ำมาใช้ อยากได้น้ำสำหรับการเพาะปลูกก็ไปสูบจากน้ำคลองชลประทานได้ แต่ชาวบ้านชาวนาที่ไม่มีโอกาสมีน้ำสำหรับเกษตรก็ต้องอาศัยฝน ฝนไม่มีก็ต้องอาศัยฝนหลวง”

 

            นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิบัตรจากสำนักสิทธิบัตรในต่างประเทศ ได้แก่ สิทธิบัตรภายใต้ชื่อ Weather Modification by Royal Rainmaking Technology จากสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป และสำนักงานสิทธิบัตรแห่งฮ่องกง นับเป็นเครื่องยืนยันถึงพระอัจฉริยภาพอันเป็นเลิศและพระราชอุตสาหะวิริยะในการค้นว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เหล่าพสกนิกร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้

      • กังหันชัยพัฒนา

             “กังหันน้ำชัยพัฒนา” คือ สิ่งประดิษฐ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบและคิดค้นเพื่อเป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและภาวะมลพิษทางน้ำที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพน้ำให้ดีขึ้นและเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ได้มาตรฐานที่สุด ทรงได้แนวคิดในการสร้างกังหันชัยพัฒนามาจาก “หลุก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านทางภาคเหนือ ซึ่งได้ทรงออกแบบคิดค้นขึ้นมา 7-8 แบบ ทรงใช้หลักการธรรมชาติดับธรรมชาติ โดยออกแบบและคิดค้นการเติมออกซิเจนที่อยู่ในอากาศให้กับน้ำ ซึ่งตัวการที่ทำให้น้ำเสียคือ น้ำมีออกซิเจนน้อย ถ้าเพิ่มออกซิเจนให้น้ำได้จะช่วยบำบัดน้ำเสียได้

         หลังทรงสร้างเครื่องต้นแบบเมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้นำไปติดตั้งยังพื้นที่ทดลองเพื่อแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาได้ทำการวิจัยและพัฒนากังหันน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

             “กังหันน้ำชัยพัฒนา”  ลักษณะเป็นกังหันน้ำที่มีโครงเป็นรูปเหลี่ยมบนทุ่นลอย  และมีซองตักวิดน้ำ 6 ซอง  ซึ่งเจาะเป็นรูพรุน  โดยใช้หลักการหมุนปั่นเพื่อเติมอากาศให้น้ำ  เมื่อซองวิดน้ำหมุนเวียนเพื่อตักน้ำขึ้นมา  ทำให้น้ำมีพื้นทำปฏิกิริยากับอากาศมากขึ้น ออกซิเจนในอากาศจะละลายในน้ำได้ดีขึ้นจะช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการใช้งานกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่สูงและสามารถผลิตเองได้ในประเทศ ซึ่งเป็นแนวคิด ไทยทำ ไทยใช้ ที่พระองค์ทรงตระหนักเสมอมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาวะมลพิษจากน้ำเสีย ซึ่งต่อมาสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งการติดตั้งอยู่กับที่หรือรูปแบบเคลื่อนที่เพื่อบำบัดน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือตามคลองส่งน้ำที่มีความยาวมาก น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร หากเป็นแหล่งน้ำเสียที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึงก็สามารถดัดแปลงใช้เครื่องยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนได้ โดยมีคนบังคับและปรับทิศทาง

                 สำนักงานเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการขอรับสิทธิบัตรเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2536 และถือว่าวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

                 พระองค์ถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงคิดค้นเครื่องบำบัดน้ำเสีย และนับเป็นเครื่องบำบัดน้ำเสียที่ได้รับสิทธิบัตรสากลเป็นเครื่องที่ 9 ของโลก ต่อมาได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ผลงานคิดค้นหรือประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติจากสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย

              นอกจากนี้  “กังหันชัยพัฒนา”  ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก  The Belgian Chamber of Inventor องค์กรทางด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม  ภายในงาน  “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม รวมถึง สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (International Federal Inventor Association: IFIA) ประเทศฮังการีได้ทูลเกล้าฯ ถวายถ้วยรางวัล IFIA Cup 2007 สำหรับผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนาอีกด้วย

      • โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

                   เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งกลายเป็นแหล่งกำเนิดโครงการในพระราชดำริอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ป่าไม้สาธิต นาข้าวสาธิต สถานีบริการแก๊สโซฮอลล์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงทรงค้นคว้าวิจัยถึงแนวทางการใช้พลังงานที่เหมาะสมกับประเทศ ทรงคิดค้นวิจัยกว่า 20 ปี และทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นภายในพระตำหนักสวนจิตรลดาในปี พ.ศ. 2528 พระองค์ทรงพระราชทานเงินทุนวิจัยเบื้องต้นเพื่อสร้างอาคารและจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ทรงริเริ่มให้มีการทดลองผลิตเอทธิลแอลกอฮอล์หรือเอทธานอลจากอ้อยเพื่อเป็นพลังงานทดแทน พระองค์ทรงโปรดให้นำพืชผลทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด นอกจากจะช่วยให้พึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ

             จากนั้นได้ดำเนินการผลิตเอทิธแอลกอฮอล์เพื่อมาเป็นส่วนผสมในการผลิต แก๊สโซฮอล์ และได้เริ่มใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์เบนซินในสวนจิตรลดา ปัจจุบันได้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่นิยมใช้กันทั่วประเทศทั้ง แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันเบนซิน 91 แต่ราคาถูกกว่าและช่วยลดมลพิษทางอากาศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม           

              นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทดลองวิจัยนำน้ำมันปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลจนประสบความสำเร็จเรียกว่า ไบโอดีเซล ต่อมาจึงได้มีการจดสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ซึ่งได้มีการสร้างอาคารไบโอดีเซลขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยใช้น้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากส่วนพระเครื่องต้น น้ำมันปาล์มและสบู่ดำมาเป็นวัตถุดิบ โดยไบโอดีเซลที่ผลิตได้ก็นำไปใช้กับเครื่องยนต์ในโครงการส่วนพระองค์ ซึ่งมีคุณภาพสูงเหมือนกับน้ำมันดีเซลทั่วไป   

             ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทางด้านเทคโนโลยีพลังงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศ สามารถผลิตเชื้อเพลิงใช้ได้เองและลดการสูญเสียงบประมาณเพื่อนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยทรงใช้หลักทางธรรมชาติที่เรียบง่ายและประหยัด แต่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดที่ยังประโยชน์อย่างมหาศาล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อพสกนิกรชาวไทย

      • เทคโนโลยีสารสนเทศ

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและศึกษาอย่างจริงจังในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรงเห็นความสำคัญและสนับสนุนในการค้นคว้าวิทยาการคอมพิวเตอร์
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วนพระองค์ต่าง ๆ มากมาย ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ทรงประดิษฐ์ตำราฝนหลวงเป็นแผนภาพการ์ตูนจากคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง เพื่อประมวลความรู้ทางวิชาการ เทคนิคและขั้นตอนการทำฝนหลวงเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและใช้เป็นแบบปฏิบัติแก่นักวิชาการฝนหลวงเรื่อยมา           

             ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงเคยใช้คอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์ ส.ค.ส. เพื่อพระราชทานแด่ปวงชนชาวไทยเนื่องในวันปีใหม่           

              อีกทั้งยังทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยหลายแบบเพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ นอกจากนี้ ยังทรงสนพระราชหฤทัย ในการประดิษฐ์อักษรภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาไทย คือภาษาสันสกฤต และทรงศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัวเทวนาครีด้วยพระองค์เอง อันมีรากมาจากศาสนาฮินดู บนจอภาพ ซึ่งจัดทำได้ยากกว่าตัวอักษรภาษาไทย พระองค์นำโปรแกรมออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 มูลเหตุที่ทรงสนพระราชหฤทัยในตัวอักษรเทวนาครีหรือภาษาแขก ก็เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจด้านธรรมะที่ลึกซึ้งในพุทธศาสนาที่พระองค์ได้ทรงศึกษาอย่างจริงจัง ข้อธรรมะเหล่านั้นอาจจะถูกตีความบิดเบือนไป การศึกษาถึงภาษาแขกจึงน่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับข้อธรรมะได้กระจ่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

[elementor-template id="6558"]