นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีและศิลปะการประกอบอาหารและสาขาวิชาอาหารและโภชนาการประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวม20 คน เข้าร่วมการแข่งขันสุดยอดเชฟ ครั้งที่ 7 “Thailand Ultimate Chef Challenge 2018” (TUCC) ที่บริษัท โคโลญ เมสเซ่ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค จำกัด ร่วมกับสมาคมเชฟประเทศไทยและสมาคมเชฟโลกจัดการแข่งขันขึ้น ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2561 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ THAIFEX-WORLD OF FOOD ASIA 2018
สำหรับนักศึกษาทั้ง20 คนที่ร่วมลงประชันฝีมือในครั้งนี้ สามารถคว้ารางวัลไว้ได้ทุกคน โดยแยกเป็นเหรียญทอง1 รางวัล ได้แก่ นายอชิตพล สังข์ทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาอาหารและโภชนาการประยุกต์ กับเมนูแกงมัสมั่น และยังสามารถเอาชนะในรุ่นProfessional ที่ร่วมลงแข่ง รับถ้วยรางวัลคะแนนสูงสุด 90 คะแนน (คะแนนเต็ม100 คะแนน) ได้เป็นสุดยอดเชฟจากเวทีการแข่งขันนอกจากนี้ยังมีนักศึกษาได้รับเหรียญเงิน3 รางวัล เหรียญทองแดง7 รางวัล และรางวัลชมเชยอีก 9 รางวัล ส่งผลให้คว้าถ้วยรางวัล “Amazing Massaman Challenge Open Chef of the Year 2018″ ซึ่งรุ่นนี้จะมีทั้งรุ่น Junior และรุ่นProfessional เข้าร่วมการแข่งขัน
การแข่งขันสุดยอดเชฟ ครั้งที่ 7 “Thailand Ultimate Chef Challenge 2018” เป็นการค้นหาสุดยอดเชฟทั้งในระดับมืออาชีพและระดับเยาวชนในมาตรฐานการแข่งขันระดับโลก รับรองโดยสมาคมเชฟโลกและสมาคมเชฟแห่งประเทศไทยและถือเป็นการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 1,000 คนจากทั่วโลก โอกาสนี้คณาจารย์ผู้ควบคุมทีมและนักศึกษา จึงขอขอบคุณผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตลอดจนนายณัฐพงศ์ ธีรนันทพิชิต (เชฟตั้ม) นายทศพร ลิ้มดำเนิน (เชฟตู้) เชฟผู้ควบคุมและฝึกสอนนักศึกษา ที่ได้ดูแลและให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาการฝึกซ้อมอย่างใกล้ชิด
ดร.พูนศิริ ทิพย์เนตร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทางคณะมีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 2 สาขา ประกอบด้วย หลักสูตรอาหารและโภชนาการประยุกต์และหลักสูตรเทคโนโลยีและศิลปะการประกอบอาหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 หลักสูตร เน้นการปฏิบัติและการฝึกฝน อาหารแต่ละชนิดมีห้องปฏิบัติการเฉพาะ มีคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ทางคณะได้มีความร่วมมือกับสมาคมเชฟชะอำ – หัวหิน ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มจัดตั้งหลักสูตร และได้เข้ามาบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับคณาจารย์ รวมทั้งยังได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้กับนักศึกษา เข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์ ทักษะ ตลอดจนเป็นเทรนเนอร์ในการแข่งขันเวทีต่างๆ ให้กับนักศึกษา และทางคณะยังได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เห็นวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ นักศึกษาจะถูกส่งไปฝึกยังสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ 2 เดือน ส่วนในเรื่องของการแข่งขันได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคน ทุกชั้นปีได้มีส่วนร่วมเพื่อเข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการแข่งขันเวทีต่างๆ ในระดับภูมิภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งในแต่ละเวทีการแข่งขันนักศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ประกอบกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่ว่า ภายในปี 2562 จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านอาหารและการท่องเที่ยว จึงต้องมีการฝึกฝนนักศึกษาให้มีความชำนาญในวิชาชีพเฉพาะ เมื่อจบการศึกษาสามารถนำความรู้ออกไปปประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแนวทางการพัฒนา ขณะนี้ทางคณะได้มีการจัดตั้งโรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรี ที่มีความพร้อมในเรื่องของหลักสูตรการประกอบอาหารเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ มีวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ ทันสมัย บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ รวมถึงการบริหารจัดการระบบในเรื่องของความปลอดภัย และในอนาคตจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบด้านอาหารร่วมกับองค์กรชั้นนำของประเทศ ตลอดจนเป็นเวทีการแข่งขันในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
สำหรับแนวทางการพัฒนา ขณะนี้ทางคณะได้มีการจัดตั้งโรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรี ที่มีความพร้อมในเรื่องของหลักสูตรการประกอบอาหารเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ มีวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ ทันสมัย บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ รวมถึงการบริหารจัดการระบบในเรื่องของความปลอดภัย และในอนาคตจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบด้านอาหารร่วมกับองค์กรชั้นนำของประเทศ ตลอดจนเป็นเวทีการแข่งขันในระดับชาติ และระดับนานาชาติ